วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

รัฐประหารครั้งที่ 11 : 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ เหตุการณ์ รสช. เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในเวลาบ่าย โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ


คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินำโดยนำโดยพล.เอกสุนทร คงสมพงษ์
         
       
                    พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ                         
                                                    
สาเหตุการรัฐประหาร
แถลงการณ์ฉบับที่ ๑ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติชี้แจงเหตุผลของการกระทำ
ประการที่ 1 พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของรัฐมนตรีเกือบทุกคนที่ต้องแสวงหาเงินเพื่อสร้างฐานะความร่ำรวยเป็นฐานอำนาจทางการเมือง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในหมู่รัฐมนตรีรวมทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูงบางคนก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับไม่เอาใส่ที่แก้ไขอย่างจริงจังกลับแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วยการยืนยันว่า หากพบผู้ใดประพฤติมิชอบให้เอาใบเสร็จมายืนยันด้วย
ประการที่ 2 ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้า ถูกข่มเหงรังแก หากไม่ยินยอมเป็นพรรคพวก หลายท่านต้องลาออกราชการ
ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาลได้ร่วมมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายอันแยบยลทางการเมืองสร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วพลิกแพลงหาประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป แท้จริงแล้วใช้ผลประโยชน์เป็นตัวนำการเมือง ระดับรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหาร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ นำประเทศไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการทางรัฐสภาเมื่อเป็นเช่นนี้ การวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญทั้งทางการเมืองและข้าราชการประจำจึงตกอยู่กับพรรคพวกนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการกอบโกยผลประโยชน์ จึงนับว่าเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร ทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง จากสภาพโดยส่วนรวมทั่วไปจะเห็นว่ารัฐบาลได้เผชิญหน้ากับฝ่ายทหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีลิตเติลดั๊ก รถวิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ การไม่ปลด ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จากการเป็นรัฐมนตรีตามสัญญาสุภาพบุรุษ
ประการที่ 5 การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2525 ประมาณ 9 ปีเศษที่ผ่านมา พลตรีมนูญ รูปขจร และพรรคพวกได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ พลตรีมนูญ รูปขจรและพรรคพวกถึง 43 คนถูกจับกุมในที่สุดและได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกสามครั้ง
จากเหตุผลและความจำเป็นทั้งห้าประการ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่สามารถที่จะปล่อยให้ภาวะระส่ำระสายของชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นรุนแรงต่อไปอีกได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะดำเนินการจัดระบอบการบริหารราชการแผ่นดินให้กลับสุ่สภาพปรกติโดยเร็วที่สุด
ลำดับเหตุการณ์
ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโอเรียนเต็ลห้องใกล้กับที่ พลเอกสุจินดา คราประยูร และนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งรับประทานพถพอยู่ ในขณะที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พักผ่อนอยู่ที่บ้านพักในซอยราชครู (พหลโยธินซอย 5)
ต่อมาเวลาประมาณ 24.00 น. วิทยุข่ายสามยอดของกองปราบรายงานว่า "ป.๑" อันหมายถึง พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบ ได้เดินทางถึงหน่วยคอมมานโด ที่ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว และสั่งให้กองปราบ "เตรียมพร้อม" เพราะมีข่าวว่าอาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น
ในเวลา 04.30 น. นายเวรของ พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส ได้แจ้งยกเลิกการเตรียมดังกล่าวภายหลังจากที่มีการตรวจสอบว่าไม่มีการเคลื่อนกำลังของหน่วยใด
สำหรับการเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในคืนนั้น นอกจาก พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศที่เดินทางกลับจากราชการที่ประเทศเกาหลีแล้ว ล้วนอยู่ในสภาพปกติทั้งสิ้น
กระทั่งเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทุกอย่างยังอยู่ในความสงบ
เดิมทีทหารได้เตรียมการจะจับตัว พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) ในเวลา 19.30 น. หลังจากการเข้าเฝ้า พร้อมกับการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดจุดสำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร แต่แผนกลับเปลี่ยนแปลงในเช้าวันนั้น ซึ่งนายทหารที่ร่วมปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ
เวลา 11.00 น. พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เดินทางถึงห้องรับรองพร้อมหน่วยรักษาความปลอดภัยประมาณ 20 นาย ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ซี 130 ที่จอดพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นายอนันต์ อนันตกูล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมหาดไทยนั่งบริเวณที่นั่งวีไอพี ส่วนหน่วย รปภ. ถูกแยกไปอยู่ตอนท้ายของเครื่อง
ทันทีที่เครื่องซี 130 เคลื่อนตัว ทหารสองนายในชุดซาฟารีสีน้ำตาลก็กระชากปืนจากเอวควบคุมรปภ. ทั้ง 20 คนเอาไว้ พร้อมๆ กับที่เครื่องบินลดความเร็วลงและ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่ในสภาพถูกควบคุมตัวเรียบร้อย ขณะที่การปฏิบัติการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทหารบกจำนวนสองพันก็เคลื่อนออกประจำจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ออกจากกองทัพอากาศ สมทบกับ พลเอกสุจินดา คราประยูร พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกแถลงการณ์กับประชาชน






ที่มา

http://pirun.ku.ac.th/~b521080372/Untitled-4.html

https://team104.wordpress.com/




รัฐประหารครั้งที่ 7 : 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501


โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์



จอมพลถนอม กิตติขจร
เหตุการรัฐประหาร 

เกิดขึ้นจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ล้มอำนาจเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้ นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501พลโทถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา
แต่ว่าการเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส. เรียกร้องเอาผลประโยชน์และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลเป็นต้น พล.ท.ถนอม กิตติขจร ก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ทว่ายังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง

ลำดับเหตุการณ์
เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองโดยการรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 แล้วก็แต่งตั้งให้ นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นายพจน์เริ่มบทบาททางการเมืองจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2491 และต่อมาในปี 2492 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2495 - 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและทำ หน้าที่ผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ และในเดือนกรกฎาคม 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) จากภูมิหลังดังกล่าวที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐ เป็นข้องบ่งชี้ถึงการการสร้างความชอบธรรมเพื่อรับรองรัฐบาลที่เกิดจากการทำ รัฐประหารในยุคสงครามเย็น
สำหรับการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายพจน์นั้น ภารกิจสำคัญคือการพยายามสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเรียกร้องต้องการสร้างฐานกำลังของฝ่าย "โลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา" ขึ้นต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของโลกสังคมนิยมที่มีผู้นำ 2 กลุ่มคือ "ม่านเหล็ก สหภาพโซเวียต" และ "ม่านไม่ไผ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน"
ดังนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 นายพจน์จึงประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคสหภูมิ ซึ่งสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์โดยตรง กับพรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงชัยกัน ผลปรากฏว่าพรรคสหภูมิชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. มากที่สุด คือ 45 คน จาก 160 คน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในสภา
จอมพลสฤษดิ์จึงพยายามรวบรวม ส.ส. อิสระและ ส.ส. จากพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมตัวกัน แล้วจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคชาติสังคม ที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค โดยสนับสนุนให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มกราคม 2501 และหลังจากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพลเอก
แต่แล้วรัฐบาลผสมที่แม้จะดูว่าพรรคชาติสังคมจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ทว่าเนื่องจากลักษณะ "มุ้งเล็กมุ้งน้อย" ในพรรครัฐบาลที่เกิดจาก "กว้าน" ส.ส. จากพรรคอื่นๆ เข้ามาเป็นฐานเสียงในสภา นำไปสู่การเมืองน้ำเน่าด้วยการต่อรองผลผลประโยชน์แลกกับการสนับสนุนรัฐบาล เป็นเหตุให้การบริหารงานราชการแผ่นดินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพลเอกถนอม เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง 
ขณะเดียวกัน ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรม ที่กำลังพยายามพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และการปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภค ทำให้รัฐบาลหารายได้ได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ผนวกกับมี ส.ส.บางกลุ่มต้องการให้ไทยวางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่กับสหรัฐอเมริกาจนออกนอก หน้า ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านก็พยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
จากการกดดันในสภาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีพล.อ.ถนอม หรือที่มีการเรียนขานกันว่า "รัฐบาลหุ่นเชิดของจอมพลสฤษดิ์" ก็รายงานเรื่องให้จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งกำลังพักรักษาตัวหลังผ่าตัดม้าม อยู่ที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับทราบ จนที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2501 ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พล.อ.ถนอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ และภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคำสั่ง "คณะปฏิวัติ" ให้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกและห้ามตั้งพรรคการเมือง มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน มีการจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ส.ส. บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จำนวนมาก
เมื่อ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว โดยอาศัยคำสั่งคณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ลงนามออกประกาศคณะปฏิวัติรวม 57 ฉบับระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนถึงการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในวันที่ 28 มกราคม 2502 พร้อมทั้งจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญกับให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเอง จัดทำขึ้น และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกไปพร้อมกัน โดยเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานฯ
นอก จากนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยมีคณะรัฐมนตรีเพียง 14 นาย ที่มีแต่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเท่านั้น ซึ่งเท่ากับรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" นั่นเอง สำหรับรัฐมนตรีที่สำคัญ ได้แก่ พล.อ.ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ เปิดโอกาสรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ส่งผลให้จอม พลสฤษดิ์ ซึ่งแต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ ผ่านมาตรา 17 ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและช่วงนี้เอง นายทหารคนหนึ่งเริ่มก้าวเข้าสู่วังวนของอำนาจทางการเมืองอย่างเงียบเชียบใน ฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือ พันเอกเปรม ติณสูลานนท์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ กองทัพบก.






ที่มา
http://talk.mthai.com/topic/79299