รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500
เป็นการรัฐประหารครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เป็นการรัฐประหารที่ถือได้ว่าพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการรัฐประหารในปี
พ.ศ. 2490
จอมพลป. พิบูล สงคราม
และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
สาเหตุ : สาเหตุของการรัฐประหารสืบเนื่องจากความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทหาร
ที่นำโดย พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
อธิบดีกรมตำรวจ ที่ค้ำอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
การเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ไม่อาจทำให้ประชาชนยอมรับในผลได้
เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่นับได้ว่ามีการโกงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่ ใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ชาวบ้าน ประชาชน
ให้เลือกแต่ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล หรือ การเวียนเทียนมาลงคะแนน
การสลับหีบบัตร การแอบหย่อนบัตรคะแนนเถื่อนเข้าไปในหีบ
และต้องใช้เวลานับคะแนนกันนานถึง 7 วัน ด้วยกัน
ผลการเลือกตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสียงข้างมาก
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งได้เพียง 5
ที่นั่ง เท่านั้น
2 มีนาคม
นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง
มีการลดธงเหลือแค่ครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัย และเรียกร้องให้ พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ
เวชยันต์รังสฤษฎ์ ซึ่งเป็น ส.ส.สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา
ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี สั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้
พล.อ.สฤษดิ์ เป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม
แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว พล.อ.สฤษดิ์กลับเข้าร่วมเดินขบวนกับประชาชนด้วย
และเมื่อถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผู้เปิดประตูทำเนียบ นำพาประชาชนเข้าพบ จอมพล
ป. พิบูลสงคราม เมื่อได้เจรจาจนได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป.
ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบมาพากลและจะจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่
จึงได้พูดผ่านโทรโข่งขอให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไปอย่างสงบ
และขอให้อัญเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาตามปกติ ซึ่งก็ได้เป็นไปตามอย่างที่ พล.อ.สฤษดิ์
ร้องขอทุกประการ
ซึ่งการเดินขบวนประท้วงครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรกของประชาชนชาวไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
สภาพโดยทั่วไปแล้วในเวลานั้น สภาพบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะของความวุ่นวาย
นักเลง อันธพาล อาละวาดป่วนเมืองราวกับไม่เกรงกฎหมาย ทั้งนี้
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ที่เหล่าอันธพาลสามารถกระทำการได้โดยได้ใจนั้น
เป็นเพราะมีตำรวจ โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจให้การสนับสนุนอยู่
และจากนั้นมา ทหารและตำรวจก็เกิดความแตกแยกกัน
โดยไฮปาร์คโจมตีกันบนลังสบู่ที่ท้องสนามหลวงสลับกันวันต่อวัน ในบางครั้ง
ทหารชั้นประทวนก็ยกพวกล้อมสถานีตำรวจจนเกิดเหตุทำร้ายร่างกายตำรวจบ้าง
แต่ก็ไม่เกิดเหตุรุนแรงมากไปกว่านั้น
14 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด
60 ปี ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เข้าอวยพรวันเกิดและนำลูกสุนัขตัวหนึ่งมอบให้เป็นของขวัญ
พร้อมกล่าวว่าจะจงรักภักดีต่อจอมพล ป. เช่นเดียวกับสุนัขตัวนี้
เพื่อเป็นการสยบความขัดแย้ง
15 กันยายน พล.อ.สฤษดิ์ และคณะนายทหารในบังคับบัญชา ได้มีแถลงการณ์ขอให้
จอมพล ป. ลาออก และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด
ซึ่งหลังจากแถลงการณ์อันนี้ออกมาแล้ว มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า
สมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาเสนอให้ จอมพล ป. จัดการอย่างเด็ดขาดกับ พล.อ.สฤษดิ์
และกลุ่มทหารในวันพรุ่งนี้ เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ พล.อ.สฤษดิ์
ตัดสินใจอย่างแน่นอนในการทำรัฐประหารเพื่อเป็นการตัดหน้า
ลำดับเหตุการณ์ : การรัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร
แม่ทัพภาคที่ 1 ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง
ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของ
กองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า
ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที
ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา
รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์
ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา
ได้นำกำลังกระทำยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "เข้าตีรังแตน"
โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3
บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล
จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ
ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ
ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส
เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย
ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที
จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้
โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อซีตรอง พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ
นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว และ
พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด
และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป.
ได้ให้ พ.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ
พล.อ.สฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
ขออย่าได้ติดตามไปเลย
ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป.
แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว
จะเอายังไงก็ว่ามา" แต่ในวันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า
ก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศไป จนในที่สุด ก็เสียชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในปี พ.ศ. 2503
ผลที่ตามมา : การรัฐประหารในครั้งนี้
นับเป็นการรัฐประหารอีกครั้งที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง
เพราะนับเป็นการขจัดฐานอำนาจเก่าของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเด็ดขาด
และหลังจากนั้น อำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ที่ต่อมาก็ได้กระทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม
ในปีต่อมา เมื่อไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายในสภา ฯ ได้
และเป็นที่มาของการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 17
ที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถส่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที
ในส่วนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากหลบหนีไปทางกัมพูชาแล้ว
ก็ลี้ภัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน
จากนั้นจึงเดินทางไปบวชที่วัดไทยพุทธคยาประเทศอินเดีย อุปสมบท ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น
ซึ่ง ณ ที่นั่น จอมพล ป. และครอบครัวได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นถือว่าจอมพล ป. มีบุญคุณต่อประเทศญี่ปุ่น
เพราะเป็นผู้อนุมัติให้ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยง่ายดาย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากมิต้องล้มตาย และจอมพล ป.
ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่บ้านพักย่านชานกรุงโตเกียว จนกระทั่งถึงแก่กรรม
ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ด้วยอายุ
67 ปี ต่อมา ครอบครัวได้ทำการฌาปนกิจที่นั่น
และนำอัฐิกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน
ท่ามกลางพิธีรับจากกองทหารเกียรติยศจากทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศ
ที่มา
https://www.facebook.com/notes/470816016272067/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น