วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

รัฐประหารครั้งที่ 12 : 19 กันยายน พ.ศ. 2549


คณะทหารในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน


พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

สาเหตุการรัฐประหาร
 ประการแรก นักการเมืองในรัฐบาลนั้นกระทำการละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างออกนอกหน้าหลายคราหลายครั้ง ตีตนเสมอพระมหากษัตริย์ บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และยุยงส่งเสริมให้คนจำนวนหนึ่งคลายลงจากความจงรักภักดี จนเป็นที่โกรธแค้นชิงชังของพสกนิกรผู้จงรักภักดีทั่วประเทศ

            ประการที่สอง นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ทำการขายชาติ ยอมยกอธิปไตยและดินแดนของประเทศไทย ตลอดจนผลประโยชน์แห่งชาติให้กับต่างชาติเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของกลุ่มตน โดยไม่สนใจไยดีต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ซึ่งผลจากการขายชาติครั้งนั้นยังก่อเกิดบาดแผลเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งกำลังอักเสบและใกล้กลายเป็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในสักวันหนึ่งข้างหน้า

            ประการที่สาม นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ฉ้อฉลปล้นชาติ ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างขนานใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย เพียงชั่วเวลาไม่กี่ปีได้ฉ้อฉลปล้นสะดมเอาผลประโยชน์ของชาติ ของนักธุรกิจ และของคนไทยไปเป็นประโยชน์ตนและครอบครัวพวกพ้อง เป็นเงินกว่า 800,000 ล้านบาท ในขณะที่ชาติใกล้ล่มจมเต็มที

            ประการที่สี่ นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ร่วมกันฉีกรัฐธรรมนูญเกือบหมดทั้งฉบับ ทำให้คณะรัฐมนตรีเป็นแค่ตรายางที่รองรับความปรารถนาของตนเท่านั้น ทำให้รัฐสภาเป็นแค่เสื้อคลุมประชาธิปไตยที่ห่อหุ้มปกปิดความเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภามีฐานะแค่ทาสในเรือนเบี้ย ที่ต้องยกมือและทำทุกสิ่งอย่างตามความปรารถนาของนักการเมือง

            ประการที่ห้า นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้เข้าครอบงำแทรกแซงองค์กรอิสระ จนขื่อแปบ้านเมืองถูกทำลายหมดสิ้น กระบวนการตรวจสอบทุกกระบวนการทุกองค์กรกลายเป็นแค่ผงซักฟอกที่คอยฟอกผิด ฟอกโกง มีฐานะเป็นแค่สีขาวที่คอยป้ายทับกลบเกลื่อนสีดำซึ่งขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง

            ประการที่หก นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ยึดเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินและกิจการต่างๆ จำนวนมากเป็นสมบัติของตน กระทั่งนำออกไปขายให้กับต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของราชอาณาจักร

            ประการที่เจ็ด นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ใช้อำนาจข่มเหงข้าราชการให้ยอมเป็นทาส บีบบังคับให้ถอนตัวออกมาจากความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยอมรับฐานะพนักงานของรัฐหรือลูกจ้างเท่านั้น กลไกรัฐถูกแปรเป็นกลไกพรรค ในขณะที่กลไกพรรคก็คือครอบครัวของคนตระกูลเดียว

            ประการที่แปด นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ทำการแบ่งแยกเข่นฆ่าสังหารประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ การสังหารโหดชาวไทยมุสลิมจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จุดชนวนกลายเป็นสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมาถึงวันนี้ การฆ่าตัดตอนจำนวนมากขยายตัวไปทั่วประเทศ จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าสงครามในอิรักหลายเท่า และฮึกเหิมลำพองถึงขนาดอุ้มฆ่าประชาชนกลางเมืองได้ตามอำเภอใจ

            ประการที่เก้า นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กีดกันขัดขวางและทำลายการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน แพร่และยัดเยียดข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จแก่ประชาชน จนเกิดความแตกแยกขึ้นทั้งแผ่นดิน

            ประการที่สิบ นักการเมืองในรัฐบาลนั้นได้ดำเนินการสืบสร้างสันตติวงศ์แห่งอำนาจ ยกโคตรวงศ์พงศาเข้ามายึดครองอำนาจรัฐอย่างกว้างขวาง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าต้องการยึดครองแผ่นดินเป็นของตน


ลำดับเหตุการณ์
วันที่ 9 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นเครื่องที่ บน.6 เพื่อเดินทางไปประเทศทาจิกิสถาน ท่ามกลางการอารักขาของหน่วยทหารพร้อมอาวุธสงคราม เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นานมีความพยายามลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรี (คาร์บอมบ์)
10 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางถึงกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซม มีข่าวลือเรื่องปฏิวัติหนาหูขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนักข่าวว่าเป็นเพียงการปล่อยข่าว ในขณะที่เมืองไทย รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการแทรกแซงโผย้ายทหารของรัฐบาลและ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
11 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ เนื่องจากเกิดเป็นไข้ขึ้นมากะทันหัน หลังเสร็จการประชุมอาเซมที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเตรียมตัวร่วมประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ประเทศคิวบา
13 กันยายน - พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าทหารไม่คิดปฏิวัติ
15 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างเดินทางไปประเทศคิวบาว่าอาจจะเว้นวรรคทางการเมือง
วันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ยกเว้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ทำให้มีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และกระจายสู่ภายนอกโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ วันพรุ่งนี้
ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่า กำลังทหารหน่วยรบพิเศษ จากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ข่าวระบุว่าเป็นเรื่องการทำบุญ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็นเวลา 05.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน
ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงสถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ยุติรายการปกติและเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี มีข่าวลืออีกว่าทหารเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม อีกกระแสข่าวบอกว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน
ช่วงนั้น น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังบริเวณหลังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ที่เดินทางตามเข้ามา แต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่ ขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนออกไปจากทำเนียบรัฐบาลด้วยกัน กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปราม เดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนราชดำเนิน สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวด่วน สถานการณ์ในประเทศไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์สั่งการไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เตรียมการถ่ายทอดเสียงผ่านทางโทรศัพท์ แต่ขณะที่กำลังรอสาย ทหารเข้าควบคุมสถานีฯ ได้เสียก่อน
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แพร่สัญญาณเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเวลา 22.15 น. ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง เพื่อควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสั่งให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย รวมถึงแต่งตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมาก ออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง จากนั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ถูกตัดลง มีรายงานว่า เนื่องจากทหารตัดไฟฟ้าที่เข้าสู่สถานีฯ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนจะตัดเข้าโฆษณา และเข้าสู่รายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่า กำลังทหารบุกเข้าควบคุม ที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท (ภายหลังนายมิ่งขวัญชี้แจงว่า ตนไม่ได้อยู่ที่สถานีในขณะนั้น และไม่ได้ถูกจับกุม)
เวลาประมาณ 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ามีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะ โมเดิร์นไนน์ ทีวี และไอทีวี หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี และ เนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.กองปราบปรามและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก
เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. ช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด มีกำลังทหารจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้ายึดอาคารชินวัตร เนื่องจากเป็นจุดสำคัญในการส่งสัญญาณสื่อสาร รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและบ้านจันทร์ส่องหล้า
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศทางเอเอสทีวี ยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก
เวลา 23.15 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง จากนั้นทหารจาก ป.พัน 21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ที่อาคารเนชั่นทาวเวอร์ โดยยืนยันว่า มาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป
เวลาประมาณ 23.30 น. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตผู้ดำเนินรายการผู้สนับสนุนคนสำคัญ มากักตัวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต



ที่มา

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000105227

http://www.oknation.net/blog/political79-2/2013/09/19/entry-1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น