พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารรักษาการนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
“ประชาธิปไตย” คือ ระบอบการปกครองที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด
แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองและข้อเท็จจริงหลายๆประการที่เกิดขึ้นในการเมืองการปกครองของไทย
กลับแสดงให้เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาธิปไตยไม่พัฒนาและนำมาซึ่งความล้มเหลวอันจะก่อให้เกิดการพังทลายของประชาธิปไตย
หนึ่งในปัจจัยนั้นก็คือ การทำรัฐประหาร
ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของไทย
เกิดการรัฐประหารหลายครั้ง โดยเหตุผลที่ใช้สร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารแต่ละครั้ง
มักจะมีการกล่าวอ้างถึงการทุจริต คอร์รัปชันของรัฐบาล การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557
ก็มีการกล่าวอ้างถึงเหตุผลข้างต้นเช่นเดียวกัน
โดยผู้ศึกษาสามารถวิเคราะห์สาเหตุของการรัฐประหาร ได้ดังนี้
1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าด้วยที่มาและคุณสมบัติของ สว.
จากการที่ สส./
พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาและคุณสมบัติของ สว.
โดยให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และยกเลิก สว. ที่มาจากการสรรหา
เมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา และได้ทำการทูลเกล้า ฯ
ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ในเวลาต่อมาปรากฎว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น
เนื่องจากมีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนประกอบด้วย สส.
พรรคเพื่อไทย คณะรัฐบาล และ กลุ่ม นปช. ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ต่อต้านก็ผประกอบด้วย
สว.ที่มาจากการสรรหา และฝ่ายค้านในรัฐสภา
โดยได้ฟ้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่าการกระทำของคณะรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนูญคือการกระทำดังกล่าวขัดติ่มาตราที่ 68
จากกรณีการแก้ไขที่มาของ
สว. ดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาซึ่งความขัดแย้งทั้งในและนอกรัฐสภา
ซึ่งความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆได้ทวีความรุนแรงขึ้น
โดยความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากเรื่องของผลประโยชน์และการใช้เสียงข้างมากโดยละเลยเสียงข้างน้อยของรัฐบาลในรัฐสภา
2. โครงการรับจำนำข้าว
โครงการรับจำนำข้าวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในการบริหารประเทศ
อันเนื่องมาจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลได้ทำการประกาศยุบสภา จึงทำให้รัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติงบประมาณในการจ่ายเงินให้แก่ชาวนาได้
จนนำไปสู่ความเดือดร้อนของชาวนา ซึ่งกลายเป็นข้อโจมตีรัฐบาลของกลุ่ม กปปส. และ
ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรัฐประหารของ คสช.
3. พรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย
พ.ร.บ.
นิรโทษกรรม เกิดจากการที่นายวรชัย เหมะ สส.พรรคเพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.
นิรโทษกรรม
เข้าสู่สภานิติบัญญัติเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายความปรองดองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น
โดยที่เนื้อหามีเจตนารมณ์เพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ต้องคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและความผิดทางการเมืองเท่านั้น
ซุ่งต่อมาเมื่อมีการแปลญัตติทำให้เนื้อหา ร่าง พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงไป
โดยมีการขยายทั้งระยะเวลา และผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม
อีกทั้งยังนิรโทษกรรมคดีที่นอกเหนือความผิดทางการเมือง
จนกลายเป็นชนวนของความแตกแยกทางความคิด
ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมและลดความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชน
เมื่อมองจากปัญหากระบวนการร่าง
พ.ร.บ.ของสภานิติบัญญัติตามกรอบอำนาจหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญปี 50
จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างสภาที่เป็นระบบแบบเสียงข้างมากในสภา
จนนำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา อีกทั้งยังมีปัญหากระบวนการในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.
ที่รวบรัดและเร่งรีบ ในขณะที่ สส.ฝ่ายค้านมีการ walk out ออกจากสภา แต่ประธานสภายังให้มีการลงมติต่อ
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของระบบรัฐสภาในการร่าง พ.ร.บ.
ที่ดูแล้วเหมือนไม่ค่อยจะมีความชอบธรรมมากสักเท่าไหร่ ทั้งที่ตัวเนื้อหาของ
พ.ร.บ.มีความละเอียดอ่อนและกระทบต่อประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก
แล้วเหตุใดรัฐสภาจึงไม่ยุติการลงมติในสภา
4.ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง
เนื่องจากประชาชนมีมุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แตกต่างกันโดยแบ่งออกเป็น
2 ฝ่าย คือ
1.ประชาชนที่มองประชาธิปไตยที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
2.ประชาชนที่มองประชาธิปไตยว่าต้องมีผู้นำที่มีคุณธรรมไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้
ทำให้เกิดความคิดที่ขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งสื่อมีบทบาทที่สำคัญในทางการกระตุ้นให้ความขัดแย้งนี้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
โดยสื่อนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ซึ่งเป็นการขยายความรุนแรงไปทั่วประเทศและคนที่อยู่ต่างประเทศด้วย
5.การยึดสถานที่ราชการและการแทรกแซงสื่อ
การบุกยึดสถานที่ราชการและการเข้าไปแทรกแซงสื่อของผู้ชุมนุมประท้วง
แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง
เมื่อสถานที่ราชการไม่สามารถบริการให้กับประชาชนได้
จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป
อีกทั้งการที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลสื่อให้ปราศจากการแทรกแซงได้
ทำให้รัฐบาลเริ่มหมดความชอบธรรมให้การบริหารประเทศ ในสภาวะดังกล่าวที่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ
สื่อหมดความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ประชาชนหมดความไว้วางใจกันทั้ง 2
องค์กรจนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ภาวะสุญญากาศที่เกิดขึ้นมีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
เมื่อความเสียหายมีมากขึ้นสุดท้ายกลายเป็นสาเหตุหรือเป็นตัวเร่งให้ทหารออกมาทำรัฐประหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
6.การยุบสภา สส.ประชาธิปัตย์ลาออก
การยุบสภาเป็นตัวเร่งให้เกิดการรัฐประหารเนื่องจากการที่รัฐบาลมองว่าการยุบสภาจะสามารถยุติความขัดแย้งที่ผ่านมาได้แต่ดูเหมือนว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้สายเกินที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ซึ่งในทางกลับกันการยุบสภาทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
จะเห็นได้ชัดเจนว่าหลังจากรัฐบาลได้ทำการยุบสภา
รัฐบาลรักษาการก็ไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ในการบริหารประเทศเนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมาย
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ในการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโครงการจำนำข้าวในเรื่องของการเบิกจ่ายเงิน
ให้แก่ชาวนา
อีกทั้งทำให้ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นยังคงมีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง
โดยรัฐบาลรักษาการไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและกลุ่มผู้ประท้วงจึงเป็นสาเหตุทำให้ทหารสามารถอ้างความชอบธรรมเพื่อเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองไทยในบทบาทของผู้พิทักษ์และนำมาสู่การทำรัฐประการในวันที่22พฤษภาคม
7.การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำการบอยคอตทางการเมืองโดยการไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง
สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบทางการเมืองและการเดินเกมการเมืองนอกสภา
โดยได้ไปเข้าร่วมกับกลุ่มกปปส.ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เกิดการปฎิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและการขัดขวางการเลือกตั้ง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
เป็นโมฆะเนื่องจาก พระราชกฤษฎีกาขัดต่อรธน. ม.108 วรรค 2
เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวทั่วประเทศได้
ส่งผลให้ไม่สามารถจัดรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและความวุ่นวายไม่จบสิ้น
8.ตุลาการภิวัฒน์
สืบเนื่องจากวันที่ 30 ก.ย. 2554 นายกรักษาการได้มีคำสั่งโยกย้ายนายถวิล
เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ต่อมานายถวิล เปลี่ยนศรีได้ฟ้องต่อศาลปกครอง
จนในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาคืนตำแหน่งนายถวิล แต่ก็ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
เนื่องจากนายไพบูล นิติตะวัน สว. สรรหา
ได้ทำการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการย้ายครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผลสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาให้ความเป็นนายกรักษาการและรัฐมนตรีอีก 9
คนสิ้นสุดลง อันนำไปสู่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองในที่สุด
จะเห็นได้ว่าอำนาจตุลาการมีอำนาจก้าวก่ายอำนาจขององค์กรอื่น
และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่ากระบวนการยุติธรรมขาดความเป็นกลางไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้
จนนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร
ให้คณะรัฐประหารเข้ามาทำการรัฐประหารในที่สุด
9.การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหาร
ก่อนการรัฐประหาร 22
พฤษภาคม 2557 มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชน
ใยการเรียกร้องให้ทหารออกมาเคลื่อนไหวหาทางออกให้ประเทศ ยุติความรุนแรงและปกป้องประชาชน
ทหารจึงมีโอกาสอาศัยอำนาจกฎหมายตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพื่อยุติความรุนแรงและเป็นคนกลางในการหาทางออกให้แก่ประเทศ
ส่งผลให้ทหารมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าภาวะปกติ จนทหารมีอำนาจเหนือกว่าทางการเมือง
มีการเรียกประชุม 7 ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พรรคการเมือง กลุ่มผู้ชุมนุม กกต.
ส.ว. และรัฐบาล เมื่อที่ประชุมหาทางออกไม่ได้ ทหารซึ่งมีความชอบธรรมจากประชาชน
มีอำนาจตามกฎหมายและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทหารจึงยุติปัญหาด้วยการรัฐประหาร
ลำดับเหตุการณ์(ระหว่างวันที่
20-22พฤษภาคม 2557)
ก่อนเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เหตุการณ์การรัฐประหารในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
โดยการรัฐประหารครั้งนี้นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.(National Peace and Order
Maintaining Council)
สองวันก่อนหน้านั้น
พลเอก ประยุทธ์ ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03:00
นาฬิกา ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
พ.ศ. 2457 ต่อมากองทัพบกได้ออกประกาศยุติการดำเนินการ ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)
และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทน โดยมีพลเอก
ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.)
และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่อง
ซึ่งสามารถสรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้
·
เหตุการณ์วันที่ 20 พฤษภาคม 2557
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้บัญชาการทหารบก
ได้ลงนามในประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557
เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชน ทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว
ต่อมาได้มีการออกประกาศฉบับที่ 2/2557 เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมา
ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก โดยประกาศฉบับดังกล่าว อ้างอำนาจตามมาตรา 2
และมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ดำเนินการดังนี้ คือ
1.
ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยมี
ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.)
2.
ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)
ที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศ เรื่อง
พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 28 เม.ย. 2557 ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 20 พ.ค. 2557 เวลา 03.00 น.
และให้กำลังของหน่วยต่าง ๆ ตามโครงสร้างการจัดของ ศอ.รส. (เว้น กำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ
และกองทัพอากาศ) เคลื่อนย้ายกลับที่ตั้ง เพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามปกติของแต่ละหน่วย
นอกจากนี้ ตามคำสั่งข้อ 2.2 ของประกาศฉบับที่
2/2557 ยังระบุด้วยว่า ให้กองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ทั้งตำรวจและทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ส่งมอบกำลังในอัตราให้ขึ้นควบคุมทางยุทธการแก่ กอ.รส. ทั้งหมดอีกด้วย
·
เหตุการณ์วันที่ 21 พฤษภาคม 2557
ในวันที่
21 พฤษภาคม 2557 กอ.รส. ไม่ได้ออกประกาศเพิ่มเติม
และกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมของตัวเองตามปกติ
โดยเหตุการณ์สำคัญมีเพียงแค่การตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ
กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์เท่านั้นและในช่วงบ่ายก็ได้มีประกาศ กอ.รส.
ฉบับที่ 7/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7
ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต
โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย โดยรายนามผู้ที่ถูกเรียนเชิญมีดังต่อไปนี้
1. ผู้แทนรัฐบาล
ประกอบด้วย รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม 4 ท่าน
2. ผู้แทนวุฒิสภา
ประกอบด้วย รองประธานวุฒิสภาท่านที่ 1 พร้อมคณะอีก 4 ท่าน
3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้ง 5 ท่าน
4. ผู้แทนพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 ท่าน
5. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์
ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 ท่าน
6. ผู้แทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(กปปส.) ประกอบด้วย นายสุเทพ
เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมคณะอีก 4 ท่าน
7. ผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
(นปช.) ประกอบด้วย นายจตุพร
พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และคณะอีก 4 ท่าน
โดยการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา
13.30 น. จน พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันพรุ่งนี้เวลา 14.00
น.เพื่อหาทางออกของประเทศอีกครั้ง เพราะยังไม่มีข้อยุติใดๆเกิดขึ้น
มีเพียงการแสดงจุดยืนแต่ละฝ่าย และได้ปรับในบางเรื่องให้เป็นเหตุเป็นผลขึ้น
และในเรื่องที่ยังติดขัดนั้น แต่ละฝ่ายจะกลับไปทบทวนหาแนวทางที่ตนเองคิดว่าน่าจะดีที่สุดในแนวความคิดของตนเอง
และจะกลับมาร่วมหารือกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ที่เดิม และทั้ง 7 ฝ่ายเห็นฟ้อง
ว่าอยากให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพราะเข้าใจว่าประชาชนตั้งตาดูว่าประเทศไปทางใด
และมีความเห็นตรงกันว่าจะคืนความสงบสุขโดยเร็ว
ส่วนข้อตกลงนั้นคาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในวันพรุ่งนี้นั้น กอ.รส. มีการบ้าน 5
ข้อให้ทุกฝ่ายกลับไปพิจารณา ดังนี้
การบ้าน
5 ข้อ ได้แก่
1.กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไร
2.จะมีนายกรัฐมนตรีคนกลางได้หรือไม่
3.มวลชนทั้ง
2 กลุ่ม ต้องยุติการชุมนุม
4.ปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง
5.จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ
·
เหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
การประชุมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.รส. กับตัวแทน 7 ภาคส่วน ได้แก่ วุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กปปส. และ นปช. ตามเวลานัดหมาย 14.00 น.
ระหว่างการประชุม
บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของแต่ละฝ่าย
ทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติในที่ประชุมได้ ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอจากตัวแทน 7 ภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุม แต่ละฝ่าย ดังนี้
ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล
ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
รมช.ศึกษาธิการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย
รมช.คลัง มีข้อเสนอว่า เชื่อว่าการหารือวันนี้ จะยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด
เพราะแต่ละฝ่ายจะยังไม่ได้ตามข้อเสนอของฝ่ายตัวเอง
จึงขอรอดูการประชุมในวันนี้อีกครั้ง
ตัวแทนพรรคเพื่อไทย
ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์
นพฤทธิ์ มีข้อเสนอว่า ควรยึดกรอบกติกา ตามประชาธิปไตย
และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้ง
ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์
ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายศิริโชค โสภา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ มีข้อเสนอว่า ควรมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
ตัวแทน
กปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ
กปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์
และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข มีข้อเสนอว่า ควรหานายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม
โดยคณะรัฐมนตรีต้องไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง พร้อมขอ นปช.ร่วมแก้ปัญหาประเทศ
ทุกฝ่ายร่วมมือปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
ตัวแทน
นปช. ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายก่อแก้ว
พิกุลทอง มีข้อเสนอว่า ให้มีการทำประชามติก่อนการเลือกตั้งเนื่องจากบ้านเมืองยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จถ้าหลายฝ่ายยังเห็นต่าง
ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
ตัวแทนฝ่าย
กกต. มีนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์ มีข้อเสนอว่า เชื่อว่าการหารือวันนี้ต้องได้ข้อยุติ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเสนอให้จัดเลือกตั้ง วันที่ 3 ส.ค. นั้น คงต้องยุติไปก่อน จนกว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นด้วยว่าสถานการณ์สงบสามารถจัดการเลือกตั้งได้
เพราะขณะนี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
ตัวแทนฝ่ายวุฒิสภา
มีข้อเสนอว่า เชื่อในวันนี้จะได้ข้อสรุปที่เป็นแนวทางที่ชัดเจน
แต่อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย
การประชุมผ่านไปเพียง
2 ชั่วโมง ประยุทธ์ ได้หันมาหารือกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. กับ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.บ่อยครั้ง และได้สั่งให้หยุดพักการประชุมทันที
เนื่องจากการพูดคุยกันในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากแต่ละฝ่ายไม่ยอมรับความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายต้องการข้อเสนอของตัวเองเป็นหลัก
เมื่อแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอพักการประชุมและเชิญแกนนำฝ่าย นปช.
และ กปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่ง ประมาณ 45 นาที
เมื่อกลับมาที่วงหารือแล้วก็ยังได้เชิญเฉพาะ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช.
และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ 1 นาที
ก่อนที่จะกลับมาที่วงหารือ จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้สอบถามนายชัยเกษม นิติสิริ
รมว.ยุติธรรมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่า
ตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษม
ระบุว่า "นาทีนี้ไม่ลาออก" พล.อ.ประยุทธ์ จึงบอกว่า "ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้
ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง"
ที่มา
http://news.sanook.com/1597237/.
http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=2407#.VPGvDXzF9Nh.
บทความสาเหตุการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น