วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

รัฐประหารครั้งที่ 10 : 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520


เป็นการรัฐประหาร โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่

นาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร

สาเหตุการรัฐประหาร
เนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ
โดยมีประกาศในการรัฐประหารไว้ดังนี้ การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดยะลา

ลำดับเหตุการณ์
8 ต.ค. 2519 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
24 ธ.ค. 2519 รัฐบาลธานินทร์ออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า
"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้นรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ก่อการรัฐประหาร 2519 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม
แม้นักศึกษา/ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา แต่ยังเหลือผู้ต้องหา 19 คนที่ไม่ได้รับการประกันตัวคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ผู้จัดการแสดงละครล้อเลียนการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา) ส่วน สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และพวกอีก 17 คนถูกฟ้องในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์และข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ)
20 ต.ค. 2520 พล.ร.อ.สงัด นำทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ โดยอ้างว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ/สังคม/อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ, ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน และท่าทีของรัฐบาลต่อความพยายามการลอบปลงพระชนม์ ร.9 ที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520


ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น